วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2562

พื้นฐานทางด้านปรัชญาการศึกษา


พื้นฐานทางด้านปรัชญาการศึกษา

1. พื้นฐานทางด้านปรัชญาการศึกษา
          ในวงการศึกษาปรัชญาได้เข้ามามีบทสําคัญต่อการจัดการศึกษา โดยเฉพาะปรัชญาการศึกษา ซึ่งหมายถึงอุดมคติ อุดมการณ์อันสูงสุดซึ่งยึดเป็นหลักในการจัดการศึกษามีบทบาทในการเป็นแม่บทเป็นต้นกําเนิดความคิดในการกําหนดความมุ่งหมายของการศึกษา และเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา ตลอดจนกระบวนการในการเรียนการสอน   ดังนั้นในการจัดการศึกษาโดยเฉพาะระดับประเทศปรัชญาการศึกษาจึงมีความสําคัญมาก    เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยกําหนดทิศทางในการจัดการศึกษา ช่วยกําหนดหลักการและ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร รวมทั้งสิ่งอื่นที่จะตามมาคือ การเลือกเนื้อหาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการประเมินผลเป็นต้น ปรัชญาการศึกษาต่าง ๆ มีดังนี้

          - ปรัชญาสารัตถนิยมหรือสาระนิยม (essentialism) เป็นปรัชญาที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาทั่วไปสาขาจิตนิยม (idealism) และสัจนิยม (realism)     ถือว่าบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นเครื่องมือของสังคม บุคคลต้องอุทิศตนเพื่อสังคม สะสมมรดกของสังคม และสืบทอดวัฒนธรรมของสังคมให้คงอยู่ต่อไป การจัดการศึกษาตามแนวคิดนี้จึงมีลักษณะเป็นการถ่ายทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมของสังคมเพราะเห็นว่า สิ่งที่นํามาสอนนั้น ดีงาม ถูกต้อง และกลั่นกรองมาดีแล้วเนื้อหาวิชาที่นํามาสอนจะเป็นการเตรียมผู้เรียนให้มีชีวิตที่ดี เช่น การอ่าน การเขียน เลขคณิต  ประวัติศาสตร์วรรณคดี ปรัชญาศาสนา เป็นต้น เนื้อหาเรียงลําดับจากง่ายไปสู่สิ่งที่ซับซ้อน จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม การจัดการเรียนรู้ยึดครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เน้นการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียน รับรู้และจํา คํานึงถึง เนื้อหาสาระมากกว่าความแตกต่างระหว่างบุคคล วิธีสอนที่ใช้มากคือการบรรยายหรือการพูดของครู ผู้เรียนต้องอยู่ในระเบียบวินัยจนสามารถทําสิ่งต่าง ๆ ได้ การประเมินผลเน้นด้านความรู้

          - ปรัชญานิรันตรนิยม (parennialism) ปรัชญานี้มีความเชื่อว่า สิ่งที่มีความคงทนถาวร ย่อมเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นจริงมากกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้   การจัดการศึกษาจึงควรให้เรียนในสิ่งที่ดีงาม มั่นคง มีเสถียรภาพ เนื้อหาวิชาที่เรียนจะเป็นวิชาที่พัฒนาเชาวน์ปัญญาและจิตใจ เช่น วิทยาศาสตร์  ตรรกศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี ไวทยากรณ์ศิลปะการพูด คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และดนตรี ถือเป็นความสําคัญของมนุษย์และเตรียมตัว  เพื่อการดํารงชีวิตการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทุกคนเรียนเหมือนกันหมด วิธีสอนใช้การฝึกฝนทางปัญญา เช่น การอ่าน การเขียน การฝึกทักษะ  การท่องจํา การคํานวณ และการถามตอบ

          - ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือปรัชญาพิพัฒนนิยม หรือปรัชญาวิวัฒนาการนิยม(progressivism)
 ปรัชญาการศึกษานี้ถือว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือของสังคมในการถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลัง มีความเชื่อว่าการศึกษาเป็นชีวิตมากกว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต และส่งเสริมวิธีการแบบประชาธิปไตย การจัดการศึกษาตามแนวนี้จะมุ่งส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกด้าน เน้นการปฏิบัติจริง และความสัมพันธ์กับสภาพจริง การจัดการเรียนรู้ยึด ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง กระบวนการจัดการเรียนร้มีหลายลักษณะยึดหลักความสนใจของผู้เรียนที่จะแก่ปัญหาสังคมต่าง ๆ วิธีการใช้มากคือการทําโครงการการอภิปรายกลุ่มและการแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล

          - ปรัชญาอัตนิยม หรือปรัชญาอัตถิภาวนิยม หรือปรัชญาสวภาพนิยม (existentialism) ปรัชญานี้มีความเชื่อว่า ธรรมชาติของคน สภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ทุกคนสามารถกําหนดชีวิตของตนเองจึงเน้นการอยู่เพื่อปัจจุบัน การปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคม เผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ได้อยู่อย่างมีความสุขการจัดการศึกษาจึงให้ ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ การตัดสินใจ สอนให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพในการเรียน และเลือกเรียนมีความรับผิดชอบในตนเอง ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทาง การจัดการเรียนรู้เน้นพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละคน วิชาที่เรียนเป็นวิชาที่พัฒนา
ความสามารถของบุคคลเฉพาะลงไปเช่นศิลปะปรัชญาวรรณคดีการเขียนการละครเป็นต้น

          ปรัชญาปฏิรูปนิยม (reconstructionism) ปรัชญานี้มีความเชื่อว่าการศึกษาควรจะเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแลงสังคมโดยตรง เน้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างสังคมให้ดี รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคม ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม อนาคตเป็นศูนย์กลาง มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถและทัศนคติที่จะออกไปปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น เนื้อหาวิชาเน้นหนักในหมวดสังคมศึกษา ด้านพฤติกรรมศาสตร์ อิทธิพลของชุมชนการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนสํารวจความสนใจและความต้องการของตนเองใช้วิธีสอนแบบให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองเน้นการอภิปรายการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาของสังคม พร้อมให้ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปสังคมด้วย ตารางสอนจัดแบบ
ยืดหยุ่น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น